ประวัติการสร้างและการจัดฉาย ของ พันท้ายนรสิงห์ (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2493)

ทวี ณ บางช้าง (ครูมารุต) ผู้กำกับภาพยนตร์

พันท้ายนรสิงห์ เป็นผลงานนิพนธ์อิงประวัติศาสตร์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เคยถูกสร้างเป็นละครเวทีของคณะศิวารมณ์ ในปี พ.ศ. 2488 นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็น พันท้ายนรสิงห์, สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็น นวล, จอก ดอกจันทร์ เป็น พระเจ้าเสือ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงสุด แต่หลังจากในยุคที่ละครเวทีเฟื่องฟู พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ขายกิจการไทยฟิล์มให้กองภาพยนตร์ทหารอากาศ แล้วตั้งคณะละครชื่ออัศวินการละครและเมื่อละครเวทีหมดความนิยม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลก็หันกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่งในนาม อัศวินภาพยนตร์[5] จึงได้ประกาศสร้างพันท้ายนรสิงห์ฉบับภาพยนตร์แบบอลังการงานสร้างในปี พ.ศ. 2491

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของอัศวินภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย มารุต โดยมี 3 นักเขียนชื่อดังในสมัยนั้นได้แก่ ประหยัด ศ. นาคะนาท (นายรำคาญ), ประมูล อุณหธูป และชั้น แสงเพ็ญ ร่วมกันเขียนบทภาพยนตร์ งานด้านกำกับภาพเป็นหน้าที่ของ รัตน์ เปสตันยี โดยถ่ายทำในระบบฟิล์ม 16 มม. โดยใช้เวลาในการสร้างกว่า 2 ปีเนื่องจากผู้กำกับใช้เวลากับการแสดงเป็นส่วนมาก [6]

ด้านนักแสดงได้นักแสดงหน้าใหม่คือ ชูชัย พระขรรค์ชัย นักมวยไทยชื่อดังแห่งเวทีราชดำเนินรับบทเป็นพันท้ายนรสิงห์ แทน สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ ส่วนบทนวลยังเป็นบทบาทของ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ แต่บทพระเจ้าเสือนั่นเดิม จอก ดอกจันทร์เป็นผู้แสดงแต่ได้เสียชีวิตกะทันหัน บทพระเจ้าเสือจึงรับบทโดย ถนอม อัครเศรณี เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยารายสัปดาห์ (นามปากกา "นายกล้าหาญ") ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนของครูเนรมิต และถนอมยังได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้อีกคนด้วย [6]

อำนวย กลัสนิมิ หรือ ครูเนรมิต ผู้ร่วมแต่งเพลง น้ำตาแสงไต้

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ยังมีชื่อเสียง คือเพลง น้ำตาแสงไต้ คำร้องโดย มารุต และ เนรมิต และทำนองโดย สง่า อารัมภีร ดัดแปลงจากของเก่า "เขมรกล่อมลูก" ซึ่งเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งที่มีความไพเราะ ประกอบในฉากพันท้ายนรสิงห์และนวลร่ำลากัน [6]

พันท้ายนรสิงห์ เปิดฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2493 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เป็นเวลานาน 3 เดือน ทำรายได้ถึง 5 ล้านบาท [7] นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากรายได้ที่สูงลิ่วในสมัยนั้น และถูกนำกลับมาฉายใหม่อีก 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2501, พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2517 โดยในปี พ.ศ. 2517 ได้ขยายฟิล์มเป็น 35 มม. บันทึกเสียงพากย์ลงบนฟิล์ม ได้แต่งเสียงประกอบและดนตรีประกอบลงใหม่ โดยบริษัทสยามพัฒนาฟิล์มของประมวล เจนจรัสสกุล ภายใต้การดูแลของหรุ่น รองรัตน์ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ [6]

ในปี พ.ศ. 2525 บริษัทไชโยภาพยนตร์ ได้นำมาสร้างใหม่อีกครั้งเป็นภาพยนตร์ 35 มม. โดยมีการปรับเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ อำนวยการสร้างและกำกับเทคนิคโดย สมโพธิ แสงเดือนฉาย กำกับการแสดงโดย เนรมิต นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี เป็น พันท้ายนรสิงห์, สมบัติ เมทะนี เป็น พระเจ้าเสือ, อาภาพร กรทิพย์ เป็น นวล ร่วมด้วย พิศมัย วิไลศักดิ์, มานพ อัศวเทพ, ส.อาสนจินดา, สีเทา, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, จิรศักดิ์ อิศรางกูร แต่ภาพยนตร์เน้นเรื่องราวและความผูกพันของพระเจ้าเสือและพันท้ายนรสิงห์ [6]

ในปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาพยนตร์ไทยอีก 24 เรื่อง [8]